บทนำ
วิทยาศาสตร์ ปรัชญา และศาสนา:
อย่าให้ความแตกต่าง นำมาซึ่งความแตกแยก
1. “ความจริง” เป็นพื้นฐานและเป้าหมายของศาสตร์
วิทยาศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา ล้วนมีพื้นฐานและมุ่งสู่ความจริง “ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญาหรือนักศาสนา (นักเทววิทยา) ที่เป็นนักคิดอิสระ” (สมัคร บุราวาศ, 2544: 2) ครุ่นคิดอยู่ในความมืดหรือสร้างทฤษฏีในสาขาวิชานั้นๆ จากการคิดเอาเอง โดยไม่ผ่านกระบวนการรับรู้ทางประสาทสัมผัส และความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนในรูปแบบต่างๆ ตามสภาพของสังคมนั้นๆ ทุกศาสตร์ต่างมีลักษณะเหมือนกันในแง่ “ตาดูดาว เท้าติดดิน”
1.1 แต่ละศาสตร์ต่างมี “อัตลักษณ์” ของตน
แม้ว่าวิทยาศาสตร์ ปรัชญาและศาสนา ต่างมีความจริงเป็นพื้นฐานและเป้าหมาย ถึงกระนั้น แต่ละศาสตร์ต่างมี “อัตลักษณ์” ของตนในเรื่องวิธีการและระดับของความจริง แต่ละศาสตร์ต่างมีมุมมองและเป้าหมายเฉพาะ ขึ้นกับธรรมชาติของศาสตร์นั้น ๆ แต่ละศาสตร์ต่างมีกรอบ บริบทของตนที่มีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน กล่าวคือ
1.1.1 วิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์ถือกำเนิดจากความต้องการความรู้ใหม่เพิ่มเติมจากความรู้เดิม โดยมีหลักการว่า สิ่งที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถรู้ เข้าใจและอธิบายได้ แต่เดิมวิทยาศาสตร์แฝงตัวอยู่ในปรัชญา และค่อยๆ แยกตัวออกมาโดยกำหนดบริบทของตนในการแสวงหาความรู้โดยใช้ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเป็นพื้นฐานในการแสวงหาความจริง ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาปรากฏการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบของการตั้งสมมติฐาน เพื่อทดสอบหรือคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยมีพื้นฐานบนข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอคติหรือความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคน ในแง่นี้เราจึงบอกได้ว่าความรู้ที่ได้จากวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่เป็นสากล (วุฒิชัย อ่องนาวา. 2551: 105)
ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงมุ่งสู่ความเป็นจริงในระดับปริมาณ คุณลักษณะ คุณสมบัติ (How to be) ตอบปัญหาเกี่ยวกับข้อเท็จจริง (Fact) โดยเน้นการนำไปใช้เพื่อการอำนวยความสะดวกแก่การดำเนินชีวิต
1.1.2 ปรัชญา
ปรัชญามุ่งสู่ความเป็นจริงในเรื่องคุณค่า ความหมายและเป้าหมาย (What/Why to be) พยายามตั้งคำถามและตอบปัญหาเกี่ยวกับภาวะที่มีอยู่ ในฐานะที่มันเป็นอย่างที่มันเป็น (ไม่ใช่มุ่งสู่ความจริงในแบบที่เราอยากให้เป็น) ในฐานะที่ภาวะนั้นๆ มีคุณค่าและความหมายในตัวของมันเอง
ดังนั้น ปรัชญาจึงให้ความสำคัญต่อการเข้าใจความจริง ด้วยการใช้เหตุผล โดยมีพื้นฐานว่ามนุษย์มีสติปัญญา ที่สามารถเข้าใจความจริง
1.1.3 ศาสนา
ศาสนามุ่งสู่ความจริงเพื่อความรอดพ้นหรือความบรมสุขเที่ยงแท้นิรันดร ศาสนาจึงมีทั้งหลักธรรมคำสอนและวิถีปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความรอดพ้น ดังตัวอย่างจากข้อความในพระคัมภีร์คริสต์ศาสนาว่า “ข้าพเจ้าต้องทำอะไรเพื่อจะมีชีวิตนิรันดร” (มธ 19: 16) หรือในพระคัมภีร์ศาสนาอิสลามที่ว่า “ ผู้ที่มีหัวใจบริสุทธิ์นั้น จะตรึกตรองในตัวของเขา ในการสร้างฟ้าแผ่นดิน และในทางนำ ที่มาจากพระผู้ทรงสร้างพวกเขา ซึ่งทำให้เขาได้ทราบเหตุผล การเป็น การตาย ของเขา อดีตกาลและอนาคตกาลของเขา ความสุขของสวรรค์ที่อัลลอฮฺทรงเตรียมไว้แก่ปวงบ่าวผู้ศรัทธา และการทรมานที่กำลังรอคอยบรรดาผู้ปฎิเสธและเขาจะตรึกตรองในปาฎิหารต่างๆ ของศาสนทูตของพระองค์ และพิจารณาหลักฐานต่างๆที่ยืนยันการเป็นศาสนทูต ที่แท้จริงของท่าน และคิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะนำเอาคำสั่งสอนของพระองค์มาปฎิบัติ เป็นรูปธรรม เพื่อจะได้รับความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า และปลอดการทรมานในนรก (อาละอิมรอน ที่191)
ดังนั้น ศาสนาจึงให้ความสำคัญต่อการเผยแสดง/การหยั่งรู้ ที่มนุษย์ได้รับจากความเป็นจริงสูงสุด (ศาสนาแนวเทวนิยม) หรือการที่มนุษย์บำเพ็ญตนจนบรรลุถึงความจริง (ศาสนาแนวอเทวนิยม) โดยมีพื้นฐานบนความเชื่อศรัทธาต่อความเป็นจริงสูงสุดหรือต่อคำสอน/วิธีการขององค์ศาสดา
จึงกล่าวได้ว่า อัตลักษณ์ของแต่ละศาสตร์ นำมาซึ่ง “วิธีการรู้ความจริง” และ “เป้าหมายเฉพาะ” ที่แต่ละศาสตร์ต้องมีแนวทางเพื่อบรรลุความจริงตามเป้าหมายของตน
1.2 ไม่มีศาสตร์ไหนดีที่สุด มีแต่ ศาสตร์ไหนเหมาะกับ “โจทย์นั้น” ที่สุด
ทั้งวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และศาสนาต่างก็ยืนยันว่าค้นหาความจริง อะไรจริง อะไรไม่จริงโดยแนวโน้มส่วนใหญ่เชื่อว่ามีความจริง จึงหาวิธีพิสูจน์ความจริง ลักษณะความจริง ขอบเขตความจริง อะไรมาพิสูจน์ความจริง บางทีก็สนับสนุนกัน บางทีก็โจมตีกัน เช่น
วิทยาศาสตร์เห็นว่าถ้ารู้วิทยาศาสตร์ทั้งหมด ก็ไม่ต้องมีศาสนา
ปรัชญาและศาสนา มองว่าวิทยาศาสตร์มุ่งแต่วัตถุ
ปรัชญามองศาสนาว่าใช้แต่ความเชื่อ ไม่มีเหตุผล
ศาสนามองปรัชญาว่า ใช้แค่เหตุผลของมนุษย์ จะไปรู้ทั้งหมดไม่ได้
ศาสตร์แต่ละอย่างสนองตอบความพึงพอใจแต่ละอย่าง (ความจริง) ด้วยวิธีการของตน ในขณะเดียวกันก็หาวิธี/เหตุผล มาปกป้องและยกเหตุผลมาบอกว่าศาสตร์ของตนดีที่สุด จนบางครั้งลืมไปว่าแต่ละศาสตร์มีธรรมชาติ มีอัตลักษณ์ เป้าหมายและมุ่งสู่ความจริงในระดับที่ต่างกัน จึงไม่มีศาสตร์ไหนที่ดีที่สุด มีแต่ศาสตร์ไหนเหมาะสมกับโจทย์หรือปัญหาไหนมากที่สุด อย่าคิดว่าศาสตร์ไหนดีกว่าหรือเหนือกว่าอีกศาสตร์หนึ่ง เพราะแต่ละศาสตร์ต่างมีธรรมชาติของตน ซึ่งผู้เขียนขอสรุปเป็นคำเปรียบเทียบว่า
“อย่าเอากติกาบาสเกตบอล มาใช้เป็นกติกาของการแข่งขันฟุตบอล
ถ้าจะแข่งบาสเกตบอล จงใช้กติกาของบาสเกตบอล”
2. “ผู้นับถือศาสนา” สะท้อนถึง “คำสอนของศาสนา”
“ภาพลักษณ์ของศาสนา” มักปรากฏให้เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน คำบางคำ องค์กรหรือสถาบันบางแห่ง วิถีชีวิตที่เราพบเห็นในสังคม คุณค่าที่มีการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ อาศัยสื่อมวลชนและวิถีชีวิตของผู้นับถือศาสนาต่างๆ (ที่ต่างจากเรา) ที่มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างจากผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ มีทั้งสิ่งที่เราชื่นชมและรู้สึกขัดแย้งกับความรู้สึกนึกคิดของเรา พฤติกรรมของผู้นับถือศาสนาบางกลุ่มอาจทำให้เรารู้สึกชื่นชมและประทับใจ ในขณะเดียวกันพฤติกรรมของผู้นับถือศาสนาบางกลุ่มอาจนำมาซึ่งความรู้สึกที่ทำให้เรารู้สึกหดหู่และผิดหวัง อันนำมาซึ่งคำถามว่าแก่นสาระ (Essence) ของคำสอนศาสนานั้นๆ เป็นอะไรกันแน่ ผู้นับถือศาสนานั้นๆ ได้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับคำสอนของศาสนาจริง ๆ หรือไม่? อย่างไร? ในฐานะที่ “ผู้นับถือศาสนา” เป็นสมาชิกกลุ่มหนึ่งในสังคม ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาย่อมแสดงถึง “สิ่งที่คนเขาเชื่อ” ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้เราพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาต่างๆ เพื่อความสมานฉันท์ในฐานะที่เราต่างเป็น “ศาสนิกชน” แม้เราจะแตกต่างกันในการเป็นศาสนิกชน แต่เราเหมือนกันในฐานะเป็นมนุษย์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพฤติกรรมของ “ผู้นับถือศาสนา” แสดงถึง “คำสอนของศาสนานั้นๆ ” แต่อย่าลืมว่า “ผู้นับถือศาสนา” ก็ยังเป็นคนเหมือนมนุษย์ทั่วไป บ่อยครั้งไม่ได้ปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาอย่างเต็มที่ “ผู้นับถือศาสนาที่ต่างจากเรา” ก็เป็นเหมือนศาสนิกชนอื่น ๆ ที่มีความตั้งใจดี พยายามประพฤติปฏิบัติตนตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ พยายามนำคำสอนของศาสนามาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน
3. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาศาสนา
ศาสนา อาจเป็นอะไรที่น่าเบื่อ ล้าสมัย ไม่ทันยุคและดูเหมือนไม่ได้ให้ “อิ่ม” หรือไม่ได้ให้คำตอบที่เราพอใจ นอกจากนั้น ศาสนา (ที่เราไม่ได้นับถือ) อาจเป็นอะไรที่มีคำศัพท์แปลก ๆ ที่ขัดแย้งกับพื้นฐานที่เรามีอยู่ จนบางครั้งอาจทำให้มีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ “ความหมาย” ของหลักคำสอนศาสนานั้นๆ เป็นต้น
ผู้เรียบเรียงประทับใจกับคำแนะนำจาก ว.วชิรเมธี “อย่าคิดว่ามีศาสนาไหนดีที่สุด มีแต่ศาสนาไหนเหมาะสมที่สุดสำหรับเรา... ศาสนาพุทธดีที่สุดสำหรับคนพุทธ ศาสนาคริสต์ก็ดีที่สุดสำหรับคนคริสต์เช่นกัน”
โปรดอย่าใช้มาตรการของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง มาเปรียบเทียบ ตัดสินเพื่อจะบอกว่า ศาสนาไหนดีกว่ากัน ศาสนาไม่ได้มีไว้แข่งขัน แต่มีไว้เพื่อแบ่งปัน
วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น